เมนู

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ปัญจกนิบาต [3. ตติยปัณณาสก์] 5. ติกัณฑกีวรรค 6. มิตตสูตร
ธรรม 5 ประการ อะไรบ้าง คือ
1. เป็นผู้เว้นขาดจากการฆ่าสัตว์
2. เป็นผู้เว้นขาดจากการลักทรัพย์
3. เป็นผู้เว้นขาดจากการประพฤติผิดในกาม
4. เป็นผู้เว้นขาดจากการพูดเท็จ
5. เป็นผู้เว้นขาดจากการเสพของมึนเมาคือสุราและเมรัยอันเป็นเหตุแห่ง
ความประมาท
ภิกษุทั้งหลาย บุคคลประกอบด้วยธรรม 5 ประการนี้แล ย่อมดำรงอยู่ในสวรรค์
เหมือนได้รับอัญเชิญไปประดิษฐานไว้
นิรยสูตรที่ 5 จบ

6. มิตตสูตร
ว่าด้วยภิกษุผู้ควรคบเป็นมิตร
[146] ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุประกอบด้วยธรรม 5 ประการ ไม่ควรคบ
เป็นมิตร
ธรรม 5 ประการ อะไรบ้าง คือ
1. ใช้ให้ทำการงาน1
2. ก่ออธิกรณ์2
3. โกรธต่อภิกษุผู้เป็นประธาน

เชิงอรรถ :
1 การงาน ในที่นี้หมายถึงการทำนาเป็นต้น (องฺ.ปญฺจก.อ. 3/146/57)
2 อธิกรณ์ ในที่นี้หมายถึงเรื่องที่เกิดขึ้นแล้วจะต้องจัดต้องทำ เรื่องที่สงฆ์ต้องดำเนินการมี 4 อย่าง คือ
(1) วิวาทาธิกรณ์ การเถียงกันเกี่ยวกับธรรมวินัย (2) อนุวาทาธิกรณ์ การโจทหรือการกล่าวหากัน
ด้วยอาบัติ (3) อาปัตตาธิกรณ์ การต้องอาบัติ การปรับอาบัติ และการแก้ไขตัวให้พ้นจากอาบัติ
(4) กิจจาธิกรณ์ กิจธุระต่าง ๆ ที่สงฆ์จะต้องทำ เช่น ให้อุปสมบท ให้ผ้ากฐิน (องฺ.ปญฺจก.อ. 3/146/57)
และดู วิ.จู. 6/219-227/250-254

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 22 หน้า :242 }


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ปัญจกนิบาต [3. ตติยปัณณาสก์] 5. ติกัณฑกีวรรค 7. อสัปปุริสทานสูตร
4. เที่ยวจาริกไปในสถานที่ไม่สมควรตลอดกาลนาน
5. ไม่สามารถชี้แจงให้ภิกษุเห็นชัด ชวนใจให้อยากรับเอาไปปฏิบัติ
เร้าใจให้อาจหาญแกล้วกล้า ปลอบชโลมใจให้สดชื่นร่าเริงด้วย
ธรรมีกถาตามกาลอันควร
ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุประกอบด้วยธรรม 5 ประการนี้แล ไม่ควรคบเป็นมิตร
ภิกษุทั้งหลาย ส่วนภิกษุประกอบด้วยธรรม 5 ประการ ควรคบเป็นมิตร
ธรรม 5 ประการ อะไรบ้าง คือ
1. ไม่ใช้ให้ทำการงาน
2. ไม่ก่ออธิกรณ์
3. ไม่โกรธต่อภิกษุผู้เป็นประธาน
4. ไม่เที่ยวจาริกไปในสถานที่ไม่สมควรตลอดกาลนาน
5. สามารถชี้แจงให้ภิกษุเห็นชัด ชวนใจให้อยากรับเอาไปปฏิบัติ
เร้าใจให้อาจหาญแกล้วกล้า ปลอบชโลมใจให้สดชื่นร่าเริงด้วย
ธรรมีกถาตามกาลอันควร
ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุประกอบด้วยธรรม 5 ประการนี้แล ควรคบเป็นมิตร
มิตตสูตรที่ 6 จบ

7. อสัปปุริสทานสูตร
ว่าด้วยอสัปปุริสทาน
[147] ภิกษุทั้งหลาย อสัปปุริสทาน (ทานของอสัตบุรุษ) 5 ประการนี้
อสัปปุริสทาน 5 ประการ อะไรบ้าง คือ
1. ให้โดยไม่เคารพ1
2. ให้โดยความไม่อ่อนน้อม2

เชิงอรรถ :
1 ให้โดยไม่เคารพ หมายถึงให้ทานโดยมิได้ทำเครื่องไทยธรรมให้สะอาดเสียก่อน (องฺ.ปญฺจก.อ. 3/147/57)
2 ให้โดยความไม่อ่อนน้อม หมายถึงให้ทานด้วยความไม่เคารพ ไม่ยำเกรง (องฺ.ปญฺจก.อ. 3/147/57)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 22 หน้า :243 }